ในที่สุดวันนี้ก็ได้ลองใช้งาน Magic Keyboard เสียที ความรู้สึกก่อนที่จะได้ใช้มันนั้นมีคำถามในใจว่ามันจะรู้สึกเหมือนกับแป้นพิมพ์ของ MacBook Retina หรือไม่ และความรู้สึกนี้มันเป็นความรู้สึกที่เหมาะสมในการใช้งานเป็นระยะเวลานานต่อเนื่องหรือไม่? และเมื่อได้ใช้งานจริงก็ทำให้พอจะตอบคำถามพื้นฐานเหล่านี้ได้
แกะกล่อง
เช่นเดียวกับ Magic Trackpad 2 ตัว Magic Keyboard นี้มาในบรรจุภัณฑ์รูปแบบเดียวกัน จุดที่ต่างออกการที่เป็นแป้นพิมพ์ภาษาไทยทำให้สินค้านี้วางจำหน่ายแค่เฉพาะในประเทศไทย จึงไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับประเทศมาเลเซียในบรรจุภัณฑ์
ขนาดของแป้นพิมพ์มีขนาดเท่าเดิม ถ้าดูจากวีดีโอรีวิวของต่างประเทศจะเห็นว่าด้วยความลาดเอียงของมัน ทำให้สามารถนำมันไปวางใต้ Apple Wireless Keyboard เดิมได้อย่างพอดิบพอดี และเข้าคู่ได้ดีกับ Magic Trackpad 2 ผิวสัมผัสบนแป้นพิมพ์นั้นได้ความรู้สึกที่ไม่แตกต่างไปจากเดิม ช่องว่างระหว่างปุ่มไม่ได้รู้สึกว่าแตกต่างไม่จากเดิม จุดที่แตกต่างที่เห็นได้คือแบบอักษรบนแป้นพิมพ์ที่ใช้ตัวอักษรชุดเดียวกับบน MacBook Retina แล้ว และแถวฟังก์ชั่นนั้นมีขนาดใหญ่เท่ากับแป้นบนแถวอื่นเสียที (ซึ่งก็ทำให้กดสะดวกขึ้น)
รอบตัวเครื่องเหมือนกับ Magic Trackpad 2 เลย นั่นคือมีสวิตช์เปิด/ปิด ลักษณะเดียวกับสวิตช์เปิดปิดของ Magic Mouse และมีพอร์ต Lightning สำหรับเสียบชาร์ตและเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งหากขี้เกียจ Pair Bluetooth เองก็สามารถใช้งานสาย Lightning จัดการได้เช่นกัน
การใช้งาน
ขั้นตอนการตั้งค่าเหมือนกับ Magic Trackpad 2 เลย ดังนั้นก็ขอข้ามมาเรื่องการพิมพ์เลยแล้วกัน แป้นพิมพ์ชุดนี้ให้ความรู้สึกว่ากดลงไปตื้นกว่าแป้นพิมพ์เดิม แต่ความนุ่มนิ่มกลับแตกต่างกันมาก แป้นพิมพ์เดิมเรารู้สึกว่าถึงความแข็งของมันทุกครั้งที่กดลงไป ซึ่งทำให้เสียงค่อนข้างดัง แตกต่างจาก Magic Keyboard ที่กดลงไปได้โดยไม่รู้สึกว่ามันต้านนิ้วมาก ซึ่งส่งผลให้ไม่ค่อยได้ยินเสียงตอนพิมพ์ และไม่รู้สึกเหวอแบบการกดแป้นพิมพ์ของ MacBook Retina นั่นอาจจะเป็นข้อแตกต่างของกลไกเบื้องหลังของ Magic Keyboard ที่ยังคงใช้รูปแบบของกรรไกร (Scissor) เช่นเดิมยังไม่เปลี่ยนไปใช้แบบผีเสื้อ (Butterfly) ซึ่งขนาดแป้นพิมพ์ใหม่ของ Surface Pro 4 ก็ยังประกาศตัวว่าใช้กรรไกรเช่นเดิมและก็เคลมว่า "เราทราบวิธีทำแป้นพิมพ์ที่ดี"
ปัจจัยในการเลือกกลไกภายใต้แป้นพิมพ์นี้ ระยะกดน่าจะเป็นข้อที่ทางผู้ออกแบบพิจารณาเป็นพิเศษ ตัวแป้นพิมพ์ของเครื่องตั้งโต๊ะนี้มันอาจจะไม่จำเป็นต้องบางเท่า รวมถึงต้นทุนต่าง ๆ อาจจะถูกกว่ากลไกแบบผีเสื้อ จึงทำให้ Apple ยังคงเลือกที่จะใช้กลไกนี้ต่อไป (และอาจจะเป็นข้ออ้างที่ดีในการขายแป้นพิมพ์แยก หาก MacBook รุ่นต่อ ๆ ไปบางลงและเปลี่ยนไปใช้กลไกผีเสื้อกันหมด)
จากการที่พิมพ์เล่นไปเรื่อย ๆ รู้สึกว่าหากชินกับมัน เราก็พิมพ์มันได้อย่างไม่เขอะเขินได้ทั้งวันแน่ ๆ แต่เรื่องความแข็งความรุ่มของแป้นพิมพ์นี้ก็เป็นความชอบส่วนบุคคลครับ คงไม่สามารถตอบแทนได้ว่าคุณจะทนใช้มันได้ทั้งวันหรือไม่กับสายแป้นพิมพ์แบบกลไกสปริงแข็ง ๆ กดดังก้อกแก้ก ๆ ที่อาจจะไม่ชอบกับจังหวะที่หายไปจากแป้นพิมพ์ตัวนี้
จุดขัดใจบนแป้นพิมพ์นี้ก็คล้าย ๆ กับ Magic Trackpad 2 นั่นคือปุ่มเปิดปิดที่ค่อนข้างเล็ก ทำให้เกี่ยวปิดเปิดได้ลำบาก ซึ่งก็น่าจะต้องใช้ความเคยชินในการแก้ปัญหานี้เช่นกัน และอีกเรื่องคือ Apple น่าจะทำให้ Magic Keyboard มีแป้นพิมพ์เรืองแสงด้วย ซึ่งดูแล้วก็ไม่น่าจะสิ้นเปลืองพลังงานจนเกินไป และเรื่องสุดท้ายที่ค่อนข้างเสียดายคือ Magic Keyboard นี้น่าจะมีรุ่นที่มีแป้นพิมพ์ตัวเลขแบบเดียวกับ Apple Keyboard รุ่นมีสายออกมาด้วย ถึงแม้จะมองว่าผู้ใช้งานค่อนข้างยอมรับกับแป้นพิมพ์แบบโน้ตบุ้คที่ไร้แผงตัวเลขได้แล้ว แต่ในช่วงนี้ก็ยังไม่มีแป้นพิมพ์ตัวเลขใดที่ทำออกมาแล้วเข้ากับตัว Magic Keyboard นี้เลย (และถึงมี ก็มีความกังวลว่าจะเป็นระบบใช้ถ่าน หรือว่าเป็นแบตเตอรี่ในตัวแบบนี้)
ทิ้งท้าย
แป้นพิมพ์นี้ ไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษในแง่ฟังก์ชั่นการใช้งานนอกเสียจากสัมผัสที่แตกต่างไปจากแป้นพิมพ์เดิม ถ้าไม่มีเหตุให้ซื้อแป้นพิมพ์ใหม่ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อ ถ้าคิดว่าสะดวกใจในการเปลี่ยนถ่านให้กับแป้นพิมพ์ตัวเดิมก็ไม่น่าจะทำให้อยากซื้อแป้นพิมพ์นี้ โดยส่วนตัวคิดว่านี่เป็นวิธีปรับราคาสินค้าแบบเนียน ๆ ของ Apple (ต่างกัน $20 ซึ่งต้นทุนค่าแบตเตอรี่อาจจะไม่แพงเท่านี้) ซึ่งก็ไม่ได้มีผลกระทบอะไรกับผู้ใช้มากมาย แตกต่างจาก Magic Trackpad 2 ที่เปิดรูปแบบการใช้งานใหม่ ๆ กับผู้ใช้ ดังนั้นการตัดสินใจซื้อมันน่าจะเป็นความชอบในตัวสินค้า (อาจจะต้องไปลองของจริงกับเครื่อง iMac) มากกว่าความจำเป็นต้องซื้อเปลี่ยน