Skip to main content

ประสบการณ์การใช้ SSD รัน VM หลากรูปแบบตั้งแต่ Fusion Drive, USB 3 และ Thunderbolt 1

Submitted by ezybzy on

เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้ Virtual Machine เพื่อทำงาน การจะลดความหนืดในการทำงานอย่างง่ายที่สุดที่คิดถึงกันคือ การใช้ Storage ที่มีความเร็ว SSD จึงเป็นตัวเลือกที่มักจะถูกหยิบมาใช้ในการออกแบบการทำงานด้วย Virtual Machine แต่รูปแบบการใช้งาน SSD มันมีผลกับประสิทธิภาพของ Virtual Machine หรือไม่? ผมใช้เวลาอยู่กับทั้ง 3 ตัวเลือกนี้และจะมาชี้ถึงข้อดีข้อเสียในแต่ละรูปแบบ

ทำไมต้องใช้ Virtual Machine?

สาเหตุหนึ่งในการตัดสินใจใช้งาน Virtual Machine นั่นคือการไม่ต้องการติดตั้งระบบปฏิบัติการลงบนเครื่องจริง ข้อดีที่มักจะถูกหยิบยกบ่อยคือความคล่องตัวในการเคลื่อนย้าย เพราะคุณสามารถย้าย Virtual Machine จากเครื่องคอมพิวเตอร์หนึ่งไปยังอีกเครื่องได้ง่าย รวมถึงสามารถทำสำเนา, ทดลองเล่นกับ Virtual Machine ได้จนหนำใจ และสุดท้ายหากเกิดความเสียหายกับตัว Virtual Machine ก็สามารถกู้คืนมันได้ง่าย

คำอธิบายการตั้งค่าการใช้งาน

เครื่องที่ใช้งานคือ iMac รุ่นปี 2013 CPU เป็น i7 หน่วยความจำ 32 GB และใช้ Fusion Drive ขนาดความจุ 3 TB โดยมีการใช้งานดิสก์ไม่เกิน 2 TB การเชื่อมต่อภายนอกที่จะกล่าวถึงหลังจากนี้ไม่ว่าจะเป็น USB หรือ Thunderbolt เป็นการเชื่อมต่อด้วยพอร์ตเพียงพอร์ตเดียว ไม่ได้มีการแบ่งเบาภาระการรับส่งข้อมูลออกไปหลายอุปกรณ์เชื่อมต่อ และโดยปรกติเครื่องนี้จะไม่มีอุปกรณ์ต่อพ่วงเป็น USB เสียบอยู่ (ตัดภาวะการรบกวนออกไป)

ตัวเลือกที่ใช้งาน

เนื่องจากผมใช้ iMac รุ่นปี 2013 ผมเล็งการใช้งาน Fusion Drive มาแต่แรกที่ซื้อเครื่อง เพราะเป็นการผสมผสาน SSD และ HDD เข้าด้วยกัน โดย macOS จะเป็นผู้จัดการเคลื่อนย้ายข้อมูลเบื้องหลังให้เอง ทำให้ประสิทธิภาพโดยรวมของระบบค่อนข้างดี ข้อจำกัดของ Fusion Drive ในเครื่องรุ่นของผมคือ SSD นั้นเชื่อมต่อด้วยรูปแบบ SATA 3 ทำให้ได้ความเร็วสูงสุดเพียง 6 Gbps เมื่อถัวเฉลี่ยกับ HDD จะทำให้ได้ความเร็วสูงสุดลดลงไปกว่านั้นหน่อย (อันนี้ไม่ถือว่ามีนัยยะมาก)

เมื่อนำมาใช้งานกับ Virtual Machine ใช้แค่เครื่องเดียวขนาดไม่ใหญ่ก็ดูไม่มีอะไรเท่าไร แต่หากต้องเปิดพร้อม ๆ กันหลาย เครื่องแม้ว่าขนาดไฟล์ Virtual Machine โดยรวมจะไม่ใหญ่มาก (ไม่เกินขนาด SSD 128 GB ที่ Apple ให้มากับเครื่อง) แต่สิ่งที่พบคือ มันจะเริ่มมีอาการหนืดบน Virtual Machine อย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ การทำงานโดยรวมที่ต้องอ่าน/เขียนข้อมูล จะเริ่มมีอาการเหมือนบางเครื่องไม่ได้งาน แต่บางเครื่องได้งานดี และแม้ว่าจะปิดการทำงานของ Virtual Machine ไปบ้างแล้วแต่ก็ยังต้องรอประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมกลับมา ณ จุดนี้มันทำให้ผมคิดว่า นี่อาจจะเป็นข้อจำกัดของตัว Fusion Drive แล้ว ก็ทนอยู่กับมันมา 3-4 ปี จนเข้าสู่ยุคที่ราคา SSD ความจุ 1 TB ไม่แพงเป็นหลักหลายหมื่นแบบในอดีต จึงเริ่มขยับขยายไปยังตัวเลือกอื่น ๆ เริ่มแรกด้วย USB 3

USB 3

เมื่อประมาณเดือนกันยายน ผมได้ซื้อ Samsung Portable SSD T5 ขนาดความจุ 1 TB ซึ่งเป็น External SSD ที่มีพอร์ตการเชื่อมต่อเป็น USB-C 3.1 Gen 2 ซึ่ง Samsung ได้ระบุข้อมูลทางเทคนิคความเร็วสูงสุดไว้ที่ 540 MBps (และระบบปฏิบัติการหลักต้องรองรับ UASP—USB Attached SCSI) แต่เนื่องจากเครื่อง iMac ของผมไม่รองรับการทำงานด้วยพอร์ต USB-C จึงต้องใช้สายแปลง ซึ่งทำให้ความเร็วตกมาอยู่ที่ระดับ USB 3.0 นั่นคือ 5 Gbps แม้ว่าจะแปลงความเร็วออกมาได้ 500 กว่า MBps ก็ตามแต่มันก็อาจจะเป็นตัวเลขที่ไม่สามารถทำได้จริง

จากการใช้งานในช่วงสัปดาห์แรกก็ยังค่อนข้างประทับใจ เหมือนความเร็วโดยรวมจะดีขึ้นหน่อยหนึ่ง และก็ยังพบว่าเมื่อปิดการทำงานของ Virtual Machine ที่เปิดพร้อมกันหลาย ๆ ตัวไปบ้างก็ยังไม่ได้ประสิทธิภาพกลับมาจนเป็นที่น่าพอใจในเวลาอันสั้น ด้วยความที่เป็น USB ซึ่งเราทราบแต่แรกแล้วว่า ความเร็วมันไม่ได้คงที่แน่นอน ก็ถือว่าถ้ามันจะช้า ๆ หนืด ๆ ก็อาจจะเป็นปัญหาจากตัว USB เอง

แต่แล้วจุดเปลี่ยนอีกครั้งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อผมพบเจอราคาโปรโมชั่นของ Internal SSD ของ Western Digital ซึ่งทำราคาความจุ 1 TB ลงมาต่ำกว่า 6500 บาทแล้ว

Thunderbolt 1

นอกจากปัจจัยราคาแล้ว ผมได้เจอคลิปวีดีโอแกะ Buffalo MiniStation Thunderbolt ซึ่งเป็น External HDD ที่มีพอร์ต Thunderbolt 1 ที่เครื่องตัวเองมีอยู่ด้วย จึงทำให้เกิดความคิดว่าจะลองแกะ Buffalo มาเปลี่ยนเป็น SSD แทนเพื่อจะลองประสิทธิภาพความเร็วของ Thunderbolt 1

ภายใน Buffalo MiniStation Thunderbolt นั้นเป็น HDD ที่เชื่อมต่อด้วยรูปแบบ SATA 3 ซึ่งทำให้มีคอขวดเรื่องความเร็วอยู่ที่ 6 Gbps เช่นเดียวกับ Internal Drive ปรกติ (ในเอกสารทางเทคนิคระบุความเร็วอยู่ราว 560 MBps/520 MBps (Read/Write)) แต่เนื่องจาก Thunderbolt มีข้อได้เปรียบที่ดีกว่า USB คือ ความเร็วในการรับส่งข้อมูลจะค่อนข้างคงที่เสมอ ผมจึงตัดสินใจซื้อ WD Blue SSD ขนาดความจุ 1 TB มาทดลองเปลี่ยนใส่ใน Buffalo MiniStation และทดสอบประสิทธิภาพการใช้งาน

จากที่ลองใช้งานมาราวสัปดาห์กว่า ๆ ผมพบว่า ปัญหาความหนืดจากการเปิด Virtual Machine หลาย ๆ ตัวที่ผมเคยเจอ มันก็ดูไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเท่าไร แต่ที่เห็นว่าจะดีขึ้นคือ เมื่อเราปิดการทำงานของ Virtual Machine ไปบ้างประสิทธิภาพของ Virtual Machine ตัวที่เหลือนั้นจะดีขึ้นแทบจะทันทีเลย ซึ่งแตกต่างจากตอนใช้ USB

สรุป

จะเห็นว่าการใช้ SSD บนรูปแบบใดก็ตามที่ผมเลือกมา โดยรวมมันก็เจอปัญหาคอขวดที่คล้าย ๆ กัน แต่การใช้ Thunderbolt 1 นั้นมีจุดที่ชนะตัวอื่น นั่นคือการได้ประสิทธิภาพคืนอย่างค่อนข้างรวดเร็วหลังจากการปิด Virtual Machine บางตัวไป ซึ่งนี่ทำให้ผมสนใจ/มีคำถามว่า หากผมขยับไปลองใช้ SSD ในรูปแบบของ NVM Express ซึ่งมีความเร็วที่สูงกว่า SATA 3 มาก ๆ และเปลี่ยนไปใช้ Mac เครื่องใหม่ที่มีการเชื่อมต่อแบบ Thunderbolt 3 แทน ผมจะยังเจออาการหนืดแบบที่เจอนี้หรือไม่?